โดย ดร. สืบพงษ์ กอวชิรพันธ์
ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ทีมวิจัยประเทศไทยได้เสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลสำหรับแผนงานที่ 2 (Work Package 2:WP2) ของโครงการ RISE ตามแผน การประเมินการบริโภคอาหารของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนทั้งสองแห่งที่ทำการศึกษา ได้ดำเนินการเพื่อสำรวจชนิดอาหารและสารอาหารที่ได้รับในกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย ตลอดจนรูปแบบการบริโภคอาหารของพวกเขา ผู้ที่เก็บข้อมูลซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือในการสัมภาษณ์แล้วนั้น จะใช้แบบสอบถามการบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง (24-hour dietary recall) และความถี่ของการบริโภคอาหาร (food frequency questionnaires: FFQ) เพื่อเก็บข้อมูลส่วนนี้
การมีส่วนร่วมของหมู่บ้านศึกษาสองแห่งในตำบลไล่โว่ คือ หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง และหมู่บ้านสะเนพ่อง อยู่ในระดับสูงมาก สำหรับหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 11 สิงหาคม มีผู้เข้าร่วมให้ข้อมูลประมาณ ร้อยละ 72 (107 คน) จากจำนวนประชากรที่ได้จากการสุ่มเพื่อเข้าร่วมตอบแบบสอบถาม สำหรับหมู่บ้านสะเนพ่อง มีสัดส่วนของการมีส่วนร่วมค่อนข้างสูง คือ เกือบร้อยละ 79 (200 คน) ซึ่งเข้าร่วมในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 12 ถึง 25 สิงหาคม)
การศึกษานี้มีจุดแข็งหลายประการที่สามารถช่วยให้ผู้วิจัยเข้าถึงจำนวนประชากรเป้าหมายของเราได้อย่างง่ายดายและดำเนินการสำรวจตามที่วางแผนไว้ กล่าวคือ (1) ความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่และการสื่อสารระหว่างทีมวิจัยไทยและทีมชุมชน จากการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 (2) การสนับสนุนจากทีมนักวิจัยในพื้นที่ที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ และ (3) ความร่วมมือและการสนับสนุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม หลายองค์กร และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
ในทางกลับกัน ทีมงานของเรายังพบความท้าทายและข้อจำกัดในระหว่างการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วย อาทิ (1) ฤดูฝนเป็นช่วงเพาะปลูกที่จำเป็นสำหรับชาวกะเหรี่ยง ทำให้กลุ่มเป้าหมายของเราส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ที่ไร่บนภูเขาซึ่งห่างไกลจากบ้านของตน (2) ฤดูฝนยังทำให้การเดินทางทางถนนในป่าลำบากมาก การเดินเท้าและการใช้รถจักรยานยนต์เท่านั้นที่จะใช้เดินทางเข้าหมู่บ้านได้ (3) เนื่องจากความแตกต่างระหว่างภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยงทีมวิจัยเราจึงต้องการความช่วยเหลือจากล่ามอย่างมากในการสัมภาษณ์ (4) วิธีการประเมินการบริโภคอาหารเป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลานาน โดยใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมง โดยเฉลี่ย ต่อผู้เข้าร่วม 1 คน จึงจะเสร็จสิ้น
ในที่สุด… ภารกิจก็สำเร็จ
เราขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อผู้เข้าร่วมวิจัย ความร่วมมือจากองค์กร นักวิจัยท้องถิ่น และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับความช่วยเหลือและกำลังใจอันมีค่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากแต่คุ้มค่ามากเช่นนี้ หากปราศจากการสนับสนุนทั้งหมดของพวกเขา เราคงทำสำเร็จไม่ได้อย่างแน่นอน !
Comments