top of page
ค้นหา
jorgegmolinos

การสื่อสารแบบเผชิญหน้า: สร้างความเข้าใจและความไว้วางใจที่มากขึ้นซึ่งนำไปสู่การทำงานร่วมกัน

โดย สินี โชติบริบูรณ์ ทีมวิจัยประเทศไทย


การวิจัยเกี่ยวกับระบบอาหาร การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และภาวะโภชนาการของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลาย มีความสำคัญแต่มีความซับซ้อนจากปัจจัยต่าง ๆ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ต้องเริ่มจากความเข้าใจพื้นที่ศึกษาและกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายมิติ แม้ว่าจะมีการสื่อสารโครงการและกิจกรรมผ่านผู้นำชุมชนและผู้ช่วยวิจัยในพื้นที่ในช่วงเปิดตัวโครงการแล้ว แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเข้าใจที่จำเป็นและการยอมรับของชุมชน จากคำบอกเล่าของ คุณธวัชชัย ไทรสังขทัศนีย์ หนึ่งในผู้ทำงานร่วมกับโครงการ มีบทบาทเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้ากลุ่มเยาวชนในชุมชน ได้กล่าวไว้ว่า "ต้องสร้างความไว้วางใจ" ดังนั้นพวกเราทีมวิจัยจากประเทศไทย จึงตัดสินใจเดินทางไปยังหมู่บ้านเกาะสะเดิ่งเพื่ออธิบายโครงการฯ อีกครั้งและเข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด





เราได้เดินทางไปเยี่ยมชุมชน ระหว่างวันที่ 6 -11 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งกว่าจะถึงหมู่บ้านพวกเราต้องเดินทางเข้าป่าทุ่งใหญ่นเราศวรด้วยรถโฟลวีล หนทางมีความขรุขระ ข้ามลำห้วยหลายสิบสาย แต่การเดินทางถือว่าคุ้มค่ามาก เมื่อถึงที่หมายก็ได้พบกับบรรยากาศที่สดชื่นบริสุทธิ์ เจ้าของบ้านที่พวกเราไปพักได้ให้การต้อนรับเราด้วยความเป็นมิตรและใจดี ชวนให้เราพักถึง 7 วัน และเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักซึ่งกันและกัน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการทำความรู้จักใหม่สำหรับเราทุกคน


การนำเสนอโครงการอย่างไม่เป็นทางการ และเพื่อชี้แจงโครงการตลอดการเข้าพักของเราแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่


กิจกรรมที่ 1 สนทนากลุ่มเล็ก ทีมนักวิจัยได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน (ผู้นำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) สมาชิกชุมชน (ทั้งชายและหญิง ผู้ใหญ่และเยาวชน) และนักวิจัยชุมชน (รุ่นเก่าและรุ่นใหม่) กิจกรรมนี้ช่วยให้นักวิจัยและชุมชนเข้าใจซึ่งกันและกันผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การเล่าเรื่อง การใช้ภาษากายและภาพประกอบเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสาร นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้แสดงและสาธิตการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์บางอย่างที่จะใช้ในการสุ่มตัวอย่างในภาคสนามของโครงการด้วย เช่น อุปกรณ์ชั่งน้ำหนัก หลอดเก็บเลือด และนำเสนอตัวอย่างการสื่อสารของผลการวิจัย เช่น การแปลผลน้ำหนัก ซึ่งจะถูกแปลความโดยสมาชิกผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้หญิง ไปยังคนอื่น ๆ ในชุมชน




กิจกรรมที่ 2 เดินเยี่ยมชมรอบชุมชน กิจกรรมนี้ทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้สถานที่ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน ได้ทักทายและทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญของชุมชน เช่น ครูหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ เรายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนผ่านเรื่องเล่าในอดีตและเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและความเชื่อของพวกเขา



กิจกรรมที่ 3 ชี้แจงโครงการ RISE ระหว่างการประชุมหมู่บ้านประจำเดือน กิจกรรมนี้ช่วยให้เราได้ยินเสียงสะท้อนโดยตรงจากผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับข้อสงสัยหรือข้อกังวลที่พวกเขาอาจมีเกี่ยวกับโครงการ ในขณะเดียวกัน ถือเป็นโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้เห็นถึงท่าทีของนักวิจัยที่มีต่อชุมชนด้วย


การเยี่ยมชมครั้งนี้มีความสำคัญมากสำหรับทีมของเรา เนื่องจากสามารถเริ่มสร้างความไว้วางใจ ความเข้าใจร่วมกันกับทั้งผู้นำและสมาชิกในชุมชน และการยอมรับของพวกเขาที่มีต่อโครงการ โดยเห็นได้จากการทักทายจากผู้เข้าร่วมประชุม ตลอดจนคำพูดของผู้นำชุมชนที่กล่าวส่งท้ายก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับ “...ถ้ามีอะไรให้ช่วย ก็บอกนะ…”


นอกจากนี้ ชุมชนเกาะสะเดิ่งมีความน่าสนใจตรงที่ผู้ช่วยวิจัยในพื้นที่เป็นกลุ่มเยาวชนที่ร่วมมือกันรักษาวิถีชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติตามภูมิปัญญาของกลุ่มกะเหรี่ยงอย่างเข้มแข็ง กลุ่มเยาวชนได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกสำรวจที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น สัตว์น้ำ นก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง ในสิ่งแวดล้อมใกล้ชุมชน อีกทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลไล่โว่อีกด้วย เครือข่ายนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงมีทุนทางสังคมที่สามารถผสานการทำงานร่วมกับทีมวิจัยเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันภายใต้โครงการนี้ แม้ว่าชุมชนจะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เพื่อรักษาวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงดั้งเดิม แต่พวกเขาต้องการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลปัจจุบันมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อหาทางออกที่สมดุลและยั่งยืนในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ และความหลากหลายของระบบอาหารดั้งเดิม


จากการเดินทางครั้งนี้ เราได้เห็นความท้าทายหลายมิติที่รอให้เราเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อคิด เรียนรู้ และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่ผสมผสานระหว่างความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างกลมกลืน





ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page