โดย วาร์วารา ปาริโลวา (Varvara Parilova) นักศึกษาปริญญาเอก ทีมวิจัยประเทศรัสเซีย
โครงการ RISE มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและการเติบโตทางวิทยาศาสตร์ ในการนี้ เราจึงวางแผนที่จะจัดการประชุมโครงการหนึ่งครั้งในช่วงต้นปีของทุกปี โดยการมีส่วนร่วมของทีมวิจัยทั้งสามประเทศ (ประเทศญี่ปุ่น ประเทศรัสเซีย และประเทศไทย) และเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี แต่แล้วโรคระบาดก็เกิดขึ้น การเดินทางก็ทั้งเสี่ยงและยุ่งยาก แต่หลังจากการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ทีมวิจัยประเทศรัสเซียได้ตัดสินใจมาเยี่ยมเพื่อนร่วมงานชาวไทยของเราเพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในเดือนพฤศจิกายน 2564 (ปีที่ 1 ของโครงการ) ซึ่งในปีที่ 2 ของโครงการนั้น ทีมงานของเราต้องทำแบบสอบถามความถี่ของอาหาร สัมภาษณ์การบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง เก็บตัวอย่างเลือด และข้อมูลสัดส่วนร่างกายจากผู้อยู่อาศัยในชุมชนท้องถิ่นที่เรากำลังศึกษาในกรณีศึกษาของ Sakha เพื่อประเมินภาวะโภชนาการและสุขภาพ เราจะเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อการวิเคราะห์ทางโภชนาการ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการวิจัย และจำเป็นต้องทำโดยนักวิจัยที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ดังนั้น การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความปลอดภัย ทั้งการได้รับการฉีดวัคซีน ทำประกันสุขภาพ ใช้เวลากักตัวนานกว่า 7 วัน และผ่านการทดสอบ RT-PCR หลายครั้ง ทีมวิจัยรัสเซียของเราทั้ง 3 คน ก็ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ ในที่สุด :)
ทีมของเราประกอบด้วยนักวิจัย 3 คน ได้แก่Tuyara Gavrilev เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมของทีมวิจัยประเทศรัสเซียและนักวิจัยรุ่นใหม่ 2 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอก คือ Vyacheslav Gabyshev ซึ่งเป็นนักชีววิทยา/นักนิเวศวิทยา และ Varvara Parilova ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยา (นั่นคือฉันเอง !) เรามาถึงประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งโดยปกติเดือนพฤศจิกายนในยากูเทีย (Yakutia) จะเป็นช่วงต้นฤดูหนาว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่เราจะมาถึงประเทศไทยท่ามกลางความร้อน 30 องศาเซลเซียส และเมื่อเรามาถึงโรงแรมพนักงานต้อนรับก็ยื่นการ์ดต้อนรับจากเพื่อนร่วมงานที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลให้เรา
15 พฤศจิกายน 2564 - วันแรก เราได้เรียนรู้วิธีการเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ อาจารย์ครรชิต และลูกศิษย์ จากสถาบันโภชนาการ ได้สอนวิชาเตรียมตัวอย่างอาหารให้กับเรา
ภาพ: การฝึกปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวอย่างอาหาร ส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียม ตัวอย่างอาหารจะถูกทำให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยใช้เครื่องปั่นอาหาร
ภาพ: ทีมวิจัยรัสเซียพร้อมลุย ! Vyacheslav เตรียมตัวอย่างปลา
16 พฤศจิกายน 2564 - ในวันที่สอง เรามุ่งเน้นไปที่การเก็บข้อมูลสัดส่วนร่างกาย ขั้นแรก เรามีการเรียนเกี่ยวกับทฤษฎี ซึ่งเราศึกษาข้อดีและข้อจำกัดของการประเมินสัดส่วนร่างกาย ตลอดจนการตีความและการกำหนดมาตรฐานของการเก็บข้อมูล จากนั้นเราก็ไปยังส่วนที่น่าสนใจที่สุด นั่นคือ การฝึกฝน !
ภาพ: การบรรยายเกี่ยวกับการประเมินสัดส่วนร่างกายและการเก็บข้อมูล
ภาพ: ฝึกวัดน้ำหนักและส่วนสูงของบุคคล หลังจากทดลองวัดค่าให้นักวิจัยท่านหนึ่งแล้ว เราก็ได้วัดน้ำหนักและส่วนสูงให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่ง ทุกคนต่างกำลังยุ่งกับการฝึกซ้อม จึงทำให้เราลืมที่จะถ่ายภาพที่ดี :)
17 พฤศจิกายน 2564 - วันที่สามของการประชุมเชิงปฏิบัติการมีความสำคัญมาก เราได้เรียนรู้จากอาจารย์ทิพวรรณ พงษ์เจริญ เกี่ยวกับการใช้แบบสอบถามความถี่ของการบริโภคอาหาร (food frequency questionnaire) และการสัมภาษณ์การบริโภคอาหารย้องหลัง 24 ชั่วโมง (24-hr dietary recall interview)
ภาพ: อาจารย์ทิพวรรณ พงษ์เจริญ อธิบายวิธีการให้เราเข้าใจว่า ทำอย่างไรให้การสัมภาษณ์การบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมงทำได้ง่ายขึ้น และทำอย่างไรให้ผู้ให้ข้อมูลเข้าใจได้มากขึ้น เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถย้อนทวนปริมาณอาหารที่ได้บริโภคไปได้แม่นยำ โดยที่เราจะแสดงขนาดของจาน และช้อนส้อมต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นปริมาณเทียบเคียง ซึ่งถ้าสามารถใช้ภาพอาหารเท่าขนาดจริงจะยิ่งดี
ภาพ: ตัวอย่างแบบสัมภาษณ์การบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง ที่เราจะนำไปปรับใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลจาก Yakutia ที่จะดำเนินการระหว่างการวิจัยภาคสนาม ในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2565
18 พฤศจิกายน 2564 – วันที่สี่ของการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นการรวบรวมข้อมูลทางชีวเคมี เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ดังนั้นเราจึงไม่ได้รับการฝึกอบรมในการเก็บตัวอย่างเลือด วัดความดันโลหิต ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้จะดำเนินการโดยบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจาก NEFU Medical Institute แต่เรากลับได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการจัดการในการเก็บข้อมูล เราเข้าใจว่าเครื่องมือใดที่บุคลากรทางการแพทย์ของเราต้องการ และวิธีการให้กำลังใจและปลอบโยนผู้เข้าร่วมวิจัยก่อนการเก็บตัวอย่างเลือด
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันในวันนั้น เราได้พบปะกับเพื่อนร่วมงานชาวไทย ซึ่งเราได้หารือเกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติของการทำวิจัย เรามีกรณีศึกษาที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกันว่าเรากำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกันอยู่หรือไม่ และทำความเข้าใจว่าทีมไทยคิดเห็นต่อโครงการ RISE ว่าอย่างไรบ้าง
ตามที่ Prof. Tuyara Gavrilyeva หัวหน้าทีมของเรา อธิบายไว้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมและเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราทุกคนที่ “ทีมไทยไม่เพียงแต่ให้ทักษะในการปฏิบัติงานแก่ทีมรัสเซียเท่านั้น แต่ยังให้ความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณงานที่ได้รับมอบหมายอีกด้วย เรากระโจนเข้าสู่พื้นที่การวิจัยใหม่ที่ซึ่งเพื่อนร่วมงานของเราได้แสดงศักยภาพระดับโลก การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเพื่อนร่วมงานของเรา (ทีมวิจัยจากประเทศไทย) ได้ทิ้งความทรงจำที่สดใสที่สุดไว้ให้กับเรา เราซึ่งเป็นทีมวิจัยจากประเทศรัสเซียจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้การดำเนินโครงการ RISE ประสบความสำเร็จ”
Comments